วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

สถานที่ท่องเที่ยว

อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว



ข้อมูลทั่วไป
น้ำตก ทรายขาว เดิมชาวบ้านเรียกว่า น้ำตกตะโกน มีต้นน้ำเกิดจากยอดเขานางจันทร์ในทิวเขาทรายขาว เทือกเขาสันกาลาคีรี ถูกค้นพบโดยพระครูศรีรัตนากร (ท่านสีแก้ว) เจ้าอาวาสวัดทรายขาว เมื่อปี 2475 อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาวมีพื้นที่ครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติเขาใหญ่ ในท้องที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี อำเภอเมืองยะลา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาสันกาลาคีรี ในท้องที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ประกอบด้วยจุดเด่นตามธรรมชาติและน้ำตกที่สวยงาม สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิดที่ควรแก่การศึกษาหาความรู้เป็น อย่างยิ่ง ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 43,482.00 ไร่ หรือ 69.57 ตารางกิโลเมตร
เดิม กรมป่าไม้ได้จัดตั้งวนอุทยานน้ำตกทรายขาวเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2497 และวนอุทยานโผงโผง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตปัตตานี เนื่องจากวนอุทยานทั้ง 2 แห่ง มีบริเวณอาณาเขตติดต่อกัน กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 1759/2528 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ให้ นายตระกูล คุณาพัทธิ์ นักวิชาการป่าไม้ 7 หัวหน้าฝ่ายจัดการวนอุทยาน ไปสำรวจหาข้อมูลวนอุทยานทั้ง 2 แห่ง และบริเวณใกล้เคียงเพื่อรวมพื้นที่วนอุทยานทั้ง 2 แห่ง จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และต่อมา นายปรีชา บุญมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี และ นายเกรียงศักดิ์ ศักดิ์คเชนทร์ สมาชิกสภาจังหวัดปัตตานี ได้มีหนังสือลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2530 ถึง พลเอกหาญ ลีลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนให้รวบรวมวนอุทยานทั้ง 2 แห่ง และขอให้สำรวจบริเวณน้ำตกอรัญวาริน ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันรวมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติด้วย
ตาม รายงานผลการสำรวจตามหนังสือที่ กษ 0713/005 ลงวันที่ 30 เมษายน 2530 สรุปได้ว่า เห็นสมควรผนวกพื้นที่วนอุทยานทั้ง 2 แห่ง เข้าด้วยกันเนื่องจากอยู่ใกล้กันและเป็นเทือกเขาเดียวกันเหมาะที่จะจัดตั้ง เป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือที่ กษ.0713/508 ลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2530 เสนอกรมป่าไม้ โดย นายไพโรจน์ สุวรรณกร รองอธิบดีกรมป่าไม้ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีกรมป่าไม้ ได้มีบันทึกสั่งการลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2530 ให้กองอุทยานแห่งชาติดำเนินการยกฐานะรวบรวมวนอุทยานทั้ง 2 แห่ง นี้เป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติจึงได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ กษ 0713/950 ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2530 เสนอโดยกรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 1477/2530 ลง วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2530 ให้ นายอุดม ยกฉวี เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจและจัดตั้งป่าเขาใหญ่ ในท้องที่ตำบลป่าบอน (ปัจจุบันแยกเป็นตำบลช้างให้ตก) ตำบลทรายขาว ตำบลนาประดู่ ตำบลทุ่งพลา ตำบลปากล่อ อำโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา ตำบลตาชี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และ ป่าเทือกเขาสันกาลาคีรี ในท้องที่ตำบลบ้านโหนด ตำบลเปียน ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
จน กระทั่งปี 2551 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาใหญ่ ในท้องที่ตำบลช้างให้ตก ตำบลทรายขาว ตำบลนาประดู่ ตำบลทุ่งพลา ตำบลปากล่อ อำโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา ตำบลตาชี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และ ป่าเทือกเขาสันกาลาคีรี ในท้องที่ตำบลบ้านโหนด ตำบลเปียน ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 71 ก ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2551

ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ ทั้งหมดอยู่บริเวณเทือกเขาสันกา ลาคีรี ซึ่งเป็นเทือกเขายาวที่สลับซับซ้อนติดต่อกันมียอดเขานางจันทร์เป็นยอดเขาที่ สูงที่สุด ส่วนใหญ่พื้นที่จะลาดลงไปทางทิศตะวันตก เป็นที่เนินเขา และเป็นที่ราบ ดินจะเป็นดินเหนียวปนทราย หินเป็นปูนและหินแกรนิต เป็นต้นกำเนิดของห้วยทรายขาว ห้วยโผงโผง ห้วยบอน ห้วยแกแดะ ห้วยลำหยัง ห้วยคลองเรือ ห้วยต้นตะเคียน ห้วยลำชิง ห้วยลำพะยา ฯลฯ ซึ่งลำห้วยลำธารเหล่านี้จะไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเทพา

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพ ภูมิอากาศจะมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ฤดูฝนอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนมกราคม จะมีฝนตกตลอด แต่จะตกชุกในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม และฤดูร้อนจะอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายน อากาศจะไม่ร้อนจัดนัก

พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพ พื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ยาง สยา กระบาก กาลอ หลุมพอ ไข่เขียว สะตอ เหรียง ตะเคียนทอง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ ระกำ หวาย เฟิน เถาวัลย์ และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ สัตว์ป่าที่พบได้แก่ เลียงผา หมูป่า เก้ง เม่น กระจง ลิง ค่าง ชะนี อีเห็น กระรอก นกขุนทอง นกกางเขน นกปรอด เหยี่ยว นกดุเหว่า ตะพาบน้ำ งูเหลือม งูเห่า งูกะปะ ตะกวด กบ เขียด กง รวมทั้งกุ้ง ปู และปลาชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในลำห้วยลำธาร

นํ้าตกโผงโผง



            ตั้งอยู่ที่ตำบลปากล่อ อำเภอโคกโพธิ์ เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ที่ ทข.1 (น้ำตกโผงโผง) ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-ยะลา) และต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 409 สายปัตตานี-ยะลา ถึงบ้านปากล่อเลี้ยวขวาไปตามทางลาดยางอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงตัวน้ำตก น้ำตกโผงโผงเป็นน้ำตกที่ไหลลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันไดจำนวน 7 ชั้น ที่ราบชั้นล่างสุดมีแอ่งน้ำตกขนาดใหญ่ มองขึ้นไปยังผาน้ำตกชั้นบนจะมองเห็นน้ำตกไหลลงมาเป็นสายน้ำคดเคี้ยวตาม หน้าผาและโขดหิน พื้นที่บริเวณสองข้างลำธารและบริเวณใกล้ตัวน้ำตกมีความร่มรื่นปกคลุมด้วย พรรณไม้นานาชนิด สภาพร่มรื่นเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อน

หาดราชรักษ์



ตั้ง อยู่หมู่ที่ 4 ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ  อยู่ติดกับหาดแฆแฆ ลักษณะเป็นหาดทรายกว้างล้อมรอบด้วยโขดหินกลมมนน้อยใหญ่ มีเนินและหุบเขาเตี้ยๆ สามารถขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์ได้อย่างสวยงาม เหมาะสำหรับการพักผ่อนในช่วงเช้าและเย็น

บริเวณนี้ยังไม่มีที่พัก เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมาเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ การเดินทางหากมาจากตัวเมืองปัตตานีหาดราชรักษ์จะอยู่ก่อนถึงหาดแฆแฆ ประมาณ 2 ก.ม.

คำขวัญและสัญลักษณ์

คำขวัญ
"เมืองงามสามวัฒนธรรม  ศูนย์ฮาลาลเลิศล้ำ  
ชนน้อมนำศรัทธา  ถิ่นธรรมชาติงามตา  ปัตตานีสันติสุขแดนใต้"

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด



     ปืนนางพญาตานี ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (ขนาดยาว 3 วา ศอกคืบนิ้วครึ่ง กระสุน 11 นิ้ว) ซึ่งเป็นปืนใหญ่กระบอกสำคัญที่ใช้ป้องกันเมืองปัตตานีตลอดมา ชาวเมืองจึงถือว่าเป็นของคู่บ้านคู่เมืองมาแต่สมัยโบราณ จังหวัดปัตตานี ใช้อักษรย่อว่า "ปน"

 ดอกไม้ประจำจังหวัด



 ดอกไม้ประจำจังหวัดปัตตานี คือ " ดอกชบา " 


ต้นไม้ประจำจังหวัด



ชื่อพรรณไม้ ตะเคียนทอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Hopea odorata







สภาพภูมิอากาศ

1. ฝน
ปริมาณน้ำฝนของจังหวัดปัตตานี ระหว่างปี 2540 – 2550 จะอยู่ในช่วง 1,281.10 ม.ม. ถึง 2,568.3 ม.ม. สำหรับปริมาณน้ำฝนในรอบปี 2550 มีฝนรวมทั้งปีวัดได้ 1,841.2 ม.ม. จำนวนวันที่มีฝนตก 152 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือ เดือนตุลาคม 2550 วัดได้ 316.1 ม.ม. เดือนที่มีฝนตกน้อยที่สุด คือ เดือนกุมภาพันธ์ 2550 วัดได้ 0.0 ม.ม. ปริมาณน้ำฝนสูงที่สุดใน 1 วัน วัดได้ 117.9 ม.ม. เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2550

2. อุณหภูมิ
ค่าอุณหภูมิของจังหวัดปัตตานี ในรอบปี พ.ศ.2550 มีค่าอยู่ในช่วง 19.5 ถึง 37.0 องศาเซลเซียส มีค่าอุณหภูมิสูงสุดวัดได้ 37.0 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2550 อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 19.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 31 มกราคม , 1 กุมภาพันธ์ และ 6 มีนาคม 2550 ค่าอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี มีค่า อยู่ในช่วง 27.30 องศาเซลเซียส

สภาพภูมิประเทศ


     แบ่งเป็น 3 ลักษณะ ประกอบด้วย พื้นราบชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ ประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่จังหวัดได้แก่ ทางตอนเหนือและทางตะวันออกของจังหวัด มีหาดทรายยาว และเป็นที่ราบชายฝั่งกว้างประมาณ 10 -30 กิโลเมตรพื้นที่ราบลุ่ม บริเวณตอนกลาง และตอนใต้ของจังหวัด มีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่าน ที่ดินมีความเหมาะสมในการเกษตรกรรม และพื้นที่ภูเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนน้อยอยู่ทางตอนใต้ของ อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอกะพ้อ และทางตะวันออกของอำเภอสายบุรี

     อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ 1055 กิโลเมตร ตั้งอยู่ติดกับอ่าวไทย มีเนื้อที่ 2109 ตารางกิโลเมตร เป็นอันดับที่ 13 ของภาคใต้ พื้นที่โดยทั่วไป เป็นที่ราบต่ำ เหมาะแก่การเพาะปลูก

    ทิศเหนือ จดสงขลา
    ทิศใต้ จดนราธิวาส
    ทิศตะวันออก จดทะเลอ่าวไทย
    ทิศตะวันตก จดยะลา

ประวัติจังหวัดปัตตานี


       จากหลักฐานเอกสารโบราณของจีน อาหรับ ชวา มลายู และจารึกของชาวอินเดีย ที่ปรากฎ นามเมืองของรัฐสำคัญแห่งหนึ่งบนแหลมมลายู ซึ่งออกเสียงตามสำเนียงในแต่ละภาษา เช่น หลังยาซูว ,หลังยาซีเจีย (ภาษาจีน พุทธศตวรรษที่ 11-12 และ 16-18) ,ลังคาโศกะ ,อิลังกาโศกะ (ภาษาสันสกฤต ภาษาทมิฬ พุทธศตวรรษที่ 9 และพุทธศตวรรษที่ 16) ,เล็งกะสุกะ (ภาษาชวา พุทธศตวรรษที่ 20) ,ลังคะศุกา (ภาษาอาหรับ พุทธศตวรรษที่ 21) ,ลังกะสุกะ ,ลังกาสุกะ (ภาษามลายู พุทธศตวรรษที่ 24) (wheatly 1961 Sklling 1992:131; อมรา ศรีสุชาติ 2540;กรมศิลปากร 2540:10)

       ชื่อที่ปรากฏนี้ นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชื่อเมืองเดียวกัน ที่เคยตั้งอยู่ในรัฐเคดะห์ ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย และจังหวัดปัตตานีในประเทศไทย แต่ในสมัยหลังศูนย์กลางของเมืองแห่งนี้น่าจะอยู่ในจังหวัดปัตตานี เนื่องจากชาวพื้นเมืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ยังกล่าวว่าเมืองปัตตานี พัฒนาขึ้นมาจากเมืองลังกาสุกะสอดคล้องกับตำนานเมืองไทรบุรีที่กล่าวว่า ราชามะโรงมหาวงค์ทรงสร้างลังกาสุกะบนฝั่งตะวันตกที่เคดะห์ และพระราชนัดดาของพระองค์ได้มาสร้างลังกาสุกะที่ปัตตานี ชาวพื้นเมืองปัตตานีเรียกบริเวณแถบนี้ว่าลังกาสุกะมา จนกระทั่งแม่น้ำปัตตานีเปลี่ยนทางเดิน (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี,2539:107)

       ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ชุมชนลังกาสุกะเริ่มเสื่อมลงไปเนื่องจากข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และศาสนาวัฒธรรมของชาวเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป นักวิชาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเชื่อว่า ปัตตานีเป็นที่แวะพักจอดเรือเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าระหว่างพ่อค้าชาว อินเดียทางตะวันตกกับพ่อค้าชาวจีนทางตะวันออก และชนพื้นเมืองบนแผ่นดินและตามหมู่เกาะใกล้เคียงต่าง ๆ นอกจากนั้นยังเชื่อมั่นอีกด้วยว่าปัตตานีเดิมเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่ตามที่ปรากฎในเอกสารโบราณที่กล่าวมา (ภัคพดี อยู่คงดี,มปป:2)

       หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงร่องรอยของความเจริญร่งเรืองในอดีตของปัตตานีที่บริเวณอำเภอยะรังเป็นซากร่องรอยของเมืองโบราณขนาดใหญ่ซ้อนทับกันถึง 3 เมือง มีซากเป็นโบราณสถานปรากฏอยู่ไม่น้อยกว่า 40 แห่ง ซากเนินโบราณสถานบางแห่งได้รับการขุดแต่งและอนุรักษ์ไว้ เช่น โบราณสถานบ้านจาเละ 3 แห่ง ซึ่งเป็นซากอาคารศาสนสถานก่ออิฐที่มีการขัดแต่งประดับฐานชั้นล่าง ๆ และยังค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น สถูปจำลองดินเผ่า พระพิมพ์ดินดิบ และดินเผาบางชิ้นมีตัวอักษรซึ่งนักภาษาโบราณอ่านและแปลว่าเป็นอักษรปัลลวะ (อินเดียใต้) ภาษาสันสกฤตเขียนเป็นคาถาเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน พระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์และเศษภาชนะดินเผาประเภทต่าง ๆ โบราณวัตถุเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 (กรมศิลปากร, 2535)

       สอดคล้องกับจดหมายเหตุจีนที่ได้กล่าวถึงไว้ นอกจากนั้นหลักฐานที่ได้ขุดค้นพบยังแสดงให้เห็นด้วยว่าบริเวณที่เป็นที่ตั้ง อำเภอยะรังในปัจจุบัน เป็นชุมชนที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพุทธที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียไว้อย่างเต็มที่ มีความสัมพันธ์กับดินแดนใกล้เคียง เช่น บริเวณดินแดนภาคกลางของประเทศไทย และบริเวณคาบสมุทรอินโดจีนด้วย และคงจะเป็นชุมชนที่มีกิจกรรมสืบต่อเรื่อยมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 15 ก่อนที่อาณาจักรศรีวิชัยจะมีอำนาจรุ่งเรืองครอบคลุมคาบสมุทรมลายูในที่สุด (ภัคพดี อยู่คงดี,มปป.:2)

       นักภูมิศาสตร์เชื่อว่า เมืองโบราณขนาดใหญ่ที่บริเวณอำเภอยะรังนั้นหมดความสำคัญลงน่าจะมีเหตุผล ประการหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลช่วงระยะเวลา 1,000 ปีที่ผ่านมา โดยลดลงไประดับหนึ่งมีผลทำให้ชายฝั่งทะเลถอยห่างออกไปจากเดิม ดังนั้น ที่ตั้งของชุมชนจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นทำเลของการเป็นเมืองท่าค้าขายอีกต่อไป และนำมาซึ่งการย้ายที่ตั้งของเมืองในระยะเวลาต่อมา ซึ่งสัมพันธ์กับตำนานการสร้างเมืองปัตตานีที่กล่าวไว้ในหนังสือหลายเล่ม เช่น Hikayat Patani:Story of Patani ของ A.Teeuw และ D.K.Wyatt:Sajaraj Kerajaan Melaya Patani หรือตำนานเมืองปัตตานีของ lbrahim Syukri เป็นต้น แม้ว่าจะไม่สามารถระบุระยะเวลากำเนิดของเมืองปัตตานีได้อย่างแน่ชัด แต่เมืองปัตตานีก็ได้ปรากฏชื่อและเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นลำดับ

       ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างน้อย เมืองปัตตานี ได้ชื่อว่าเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ปลายแหลมมาลายู มีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรม ไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) และอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา ในปี พ.ศ.2054 โปรตุเกสสามารถยึดครองมะละกาได้สำเร็จ และพยายามขยายอิทธิพลทางการค้าขึ้นมาทางตอนเหนือของคาบสมุทรมาลายู ประกอบกับพระราชาธิบดีที่ 2 (พ.ศ.2034-2072) ทรงยินยอมให้โปรตุเกสเข้ามาตั้งสถานีการค้าในเมืองชายฝั่งทะเล เช่น นครศรีธรรมราช มะริด ตะนาวศรี รวมทั้งปัตตานีด้วย ทำให้ปัตตานีกลายเป็นเมืองท่าหลักเมืองหนึ่ง เป็นที่ตั้งของสถานีการค้าของพ่อค้าทั้งชาวตะวันตกและชาวตะวันออก ทั้งชาวอินเดีย จีน และญี่ปุ่น สินค้าที่สำคัญของเมืองปัตตานียุคนั้น ได้แก่ ไม้กฤษณา ไม้ฝาง เครื่องเทศ ของป่า งาช้าง และนอแรด นอกจากนี้ปัตตานียังเป็นจุดรับส่งสินค้าของนานาชาติ เช่น เครื่องถ้วยชาม อาวุธ ดินปืน ดีบุก และผ้าไหม (สถาบันทักษิณคดีศึกษา: 2529)

       แม้ว่าปัตตานีเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาก็ตาม แต่ด้วยเหตุเมืองที่ปัตตานีมีความเจริญมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ทำให้เจ้าเมืองปัตตานีต้องการเป็นอิสละหลายครั้ง ดังเช่น

       ในปี พ.ศ.2092 ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระยาตานีศรีสุลต่านได้นำกองทัพเรือประกอบด้วยเรือหย่าหยับ 200 ลำ ไปช่วยราชการสงคราม แต่เมื่อเห็นว่ากองทัพกรุงศรีอยุธยาเสียทีพม่า จึงถือโอกาสทำการขบถยกกำลังบุกเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิหนีข้ามฝากไปประทับบนเกาะมหาพราหมณ์ จนเมื่อกองทัพไทยรวบรวมกำลังได้แล้ว จึงยกกองทัพเข้าโอบล้อมตีกองทหารเมืองตานีจนแตกพ่ายไป

       ต่อมาในปี พ.ศ.2146 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีรับสั่งให้ออกญาเดโชยกทัพไปตีเมืองปัตตานี เพื่อยึดเข้าไว้ในพระราชอำนาจ แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากปัตตานีได้รับการช่วยเหลือจากพ่อค้าชาวยุโรป ทั้งอาวุธปืนใหญ่และทรัพย์สินเงินทอง

       ในสมัยพระเพทราชา (พ.ศ.2231-2245) เมืองปัตตานีไม่พอใจในการสถาปนาขึ้นใหม่ของกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ประกาศไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ทำให้ปัตตานีเป็นอิสระต่อเนื่องมา

       จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ.2301 ตลอดมาจนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เมืองปัตตานีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่เมืองโบราณ ยะรังแสดงว่าประชาชนโดยทั่วไปก่อนหน้านั้นนับถือศาสนาพุทธและพราหมณ์ และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม หลังจากที่อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลง อิทธิพลของศาสนาอิสลามจากราชวงค์มัชปาหิตในชวาได้แผ่อำนาจเข้ามาสู่แหลม มลายูก่อตัวขึ้นเป็นอาณาจักรมะละกา

       ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 แผ่อิทธิพลไปสู่เมืองต่าง ๆ ทำให้เจ้าเมืองเปลี่ยนการนับถือศาสนาเดิมมาเป็นศาสนาอิสลามทั้งหมด ก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการเมือง และการเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคนี้อย่างเข้มแข็ง ศาสนาอิสลามได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นควบคู่ไปกับการค้า มีการก่อสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ มัสยิดที่สำคัญคือ มัสยิดกรือเซะ ซึ่งเป็นมัสยิดใหญ่ประจำเมือง และมัสยิดบ้านดาโต๊ะ บริเวณที่เป็นท่าเรือทางตอนเหนือของอ่าวปัตตานี นอกจากนั้นยังมีมัสยิดและสุเหร่าในเขตชุมชนอิสลามถูกสร้างขึ้นอีกหลายแห่ง


        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2325-2352) ทรงโปรดฯ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกทัพหลวงลงมาปราบปรามพม่าที่มาตีหัวเมืองทางแหลมมลายูจนเรียบร้อย และในปี พ.ศ.2328 กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จลงไปประทับที่เมืองสงขลาให้ข้าหลวงเชิญกระแสรับสั่งออกไปยังหัวเมือง ที่เหลือ คือ เมืองปัตตานี เมืองไทรบุรี และเมืองตรังกานู ให้มายอมเป็นเมืองขึ้นเช่นเดิม แต่สุลต่านมูฮัมหมัดพระยาปัตตานีในขณะนั้นขัดขืน กรมพระราชวังบวรฯ จึงมีรับสั่งให้พระยากลาโหมยกกองทัพไทยลงไปตีเมืองปัตตานีได้ในปี พ.ศ.2329 กวาดต้อนครอบครัวและศาสตราวุธมาเป็นอันมาก รวมทั้งปืนใหญ่ 2 กระบอก แต่สามารถนำไปได้เพียงกระบอกเดียว แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดฯ ให้จารึกชื่อเป็น ”พญาตานี” ซึ่งนับว่าเป็นปืนใหญ่กระบอกใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณหน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร

       ในปี พ.ศ.2332 ตนกูลามิดดินเจ้าเมืองปัตตานีมีหนังสือไปชวนองค์เชียงสือเจ้าอนัมก๊ก ให้ร่วมกันตีหัวเมืองในพระราชอาณาจักร เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทราบ จึงโปรดฯ ให้ยกทัพไปตีเมืองปัตตานีอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2351 ดาตะปังกาลันได้ก่อความไม่สงบขึ้น รัชกาลที่ 1 โปรดให้เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค) ยกทัพหลวงออกไปสมทบกับเมืองสงขลา พัทลุง จะนะ ตีเมืองปัตตานีได้สำเร็จ


        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ.2352-2367) เกิดความไม่สงบบ่อยครั้ง ดังนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยสงครามและพระยาสงขลา (เถี่ยนจ๋อง) ผู้กำกับดูแลหัวเมืองมลายูแบ่งเมืองตานีออกเป็น 7 หัวเมือง และแต่งตั้งให้พระยาเมืองเป็นผู้ปกครอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2359 เป็นต้นมา ได้แก่

1. เมืองปัตตานี ต่วนสุหลง เป็นเจ้าเมือง
2. เมืองยะหริ่ง นายพ่าย เป็นเจ้าเมือง
3. เมืองสาย นิเดะห์ เป็นเจ้าเมือง
4. เมืองหนองจิก ต่วนนิ เป็นเจ้าเมือง
5. เมืองระแงะ นิดะห์ เป็นเจ้าเมือง
6. เมืองรามันห์ ต่วนมันโซร์ เป็นเจ้าเมือง
7. เมืองยะลา ต่วนยาลอร์ เป็นเจ้าเมือง


(Ibrahim Syukri, 1985 : 61-62 ; ครองชัย หัตถา, 2451 : 140-142)


        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกวิธีการปกครองบ้านเมืองแบบจตุสดมภ์ (เวียง วัง คลัง นา) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2435 เป็นต้นมา จัดการปกครองเป็นแบบ 12 กระทรวง มีกระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงการแผ่นดิน โดยให้จัดการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาล ทรงใช้นโยบายประนีประนอมและทรงดำเนินการทีละขั้นตอนโดยไม่ก่อ่ให้เกิดการ กระทบกระเทือนต่อการปกครองของเจ้าเมือง ทั้ง 7 หัวเมือง ในภาคใต้ทรงโปรดฯ ให้จัดแบ่งเป็น 4 มณฑล ได้แก่

๑. มณฑลภูเก็ต จัดตั้งในปี พ.ศ. 2437
๒. มณฑลชุมพร จัดตั้งในปี พ.ศ. 2439
๓. มณฑลนครศรีธรรมราช จัดตั้งในปี พ.ศ. 2439
๔. มณฑลไทรบุรี จัดตั้งในปี พ.ศ. 2440


        มณฑลนครศรีธรรมราช ประกอบด้วยเมือง 10 เมือง โดยรวมเอาบริเวณ 7 หัวเมืองเข้าไว้ด้วยคือ เมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตานี ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก ยะลา ระแงะ และรามันห์ มีผู้ว่าราชการเมืองดูแล อยู่ในการปกครองของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล ปี พ.ศ. 2447 ทรงพระกรุณาโปรดให้แยกหัวเมืองทั้ง 7 ออกจากมณฑลนครศรีธรรมราช มาตั้งเป็นมณฑลปัตตานี พร้อมทั้งเปลี่ยนฐานะเมืองเป็นอำเภอ และจังหวัด ได้แก่

จังหวัดปัตตานี รวมเมืองหนองจิกและเมืองยะหริ่ง
จังหวัดสายบุรี รวมเมืองระแงะ
จังหวัดยะลา รวมเมืองรามันห์


       นอกจากนี้ยังแยกท้องที่อำเภอหนองจิกยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเมืองเก่า ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอมะกรูดและอำเภอโคกโพธิ์ตามลำดับ เมืองปัตตานีเดิมเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอปะกาฮะรัง และจัดตั้งอำเภอขึ้นใหม่อีก 2 อำเภอ คือ อำเภอยะรัง และอำเภอปะนาเระขึ้นกับจังหวัดปัตตานี


        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำภายหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลจึงต้องตัดทอนรายจ่ายให้น้อยลงเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังของ ประเทศ จึงยุบเลิกมณฑลปัตตานี คงสภาพเป็นจังหวัด ยุบจังหวัดสายบุรีเป็นอำเภอตะลุบัน และแบ่งพื้นที่บางส่วนของสายบุรี คือระแงะ และบาเจาะ ไปขึ้นกับจังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา จังหวัดปัตตานีมีการปกครองโดยผู้ว่าราชการจังหวัด พระยารัตนภัคดี (แจ้ง สุวรรณจินดา) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีคนแรก ภายใต้การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแห่งราช อาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวในปี พ.ศ. 2499 และ พ.ศ. 2505 และใช้บริหารราชการแผ่นดินมาจนทุกวันนี้